งานวิจัยและบทความ

การศึกษาผลงานจิตรกรรมฝาผนังในอุโบสถวัดหนองยาวสูง อำเภอเมืองสระบุรี จังหวัดสระบุรี

การศึกษาผลงานจิตรกรรมฝาผนังในอุโบสถวัดหนองยาวสูงอำเภอเมืองสระบุรีจังหวัดสระบุรี มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิเคราะห์ผลงานจิตรกรรมฝาผนังของวัดหนองยาวสูง ในประเด็นเรื่องราว ความเชื่อ การจัดวางภาพ ตำแหน่งของภาพ และปรากฎการณ์ร่วมสมัยในงานจิตรกรรม ผลการวิจัยพบว่า อุโบสถวัดหนองยาวสูงสร้างราวปลายสมัยรัชกาลที่ 1 พ.ศ. 2350 อาจบูรณะในสมัยรัชกาลที่ 3 และวาดภาพจิตรกรรมเพิ่มเติมในสมัยรัชกาลที่ 4-5 จิตรกรใช้เทคนิคการวาดภาพแบบไทยประเพณี ผสมผสานกับเทคนิคการวาดภาพแบบจีนและตะวันตก 1. ประเด็นเกี่ยวกับเรื่องราว ความเชื่อ ของภาพจิตรกรรม ภาพจิตรกรรมที่พบภายในอุโบสถของวัดหนองยาวสูง ทั้งหมดยังเป็นความเชื่อแบบดั้งเดิมของพุทธศาสนา เป็นเรื่องราวพุทธประวัติ และทศชาติชาดกตอนพระเวสสันดรชาดก ความเชื่อในการที่จิตรกรนำพุทธประวัติและทศชาติตอนพระเวสสันดรชาดกมาวาดเป็นงานจิตรกรรมในอุโบสถนั้นเพื่อเป็นการสืบทอดพระพุทธศาสนาในการออกบวชของพระพุทธเจ้าและความเชื่อเกี่ยวกับการทำบุญด้วยการให้ทานของชาวไทยวน ที่สืบทอดกันมาว่าได้อานิสงส์มาก หรือการฟังธรรมหรือศึกษาธรรมเรื่องพระเวสสันดร จนจบ ๑๓ กัณฑ์ ก็สามารถอธิษฐานพระนิพพาน หรืออธิษฐานเพื่อไปเกิดในยุคพระศรีอริยเมตไตรยได้ รวมถึงความเชื่อเรื่องนรกสวรรค์ การทำความดีละเว้นความความชั่วการทำบุญอุทิศให้ผู้ตายในตอนพระมาลัยโปรดโลก 2. การจัดวางภาพและตำแหน่งของภาพ ภาพจิตรกรรมในอุโบสถวัดหนองยาวสูง มีการจัดวางภาพดังนี้ ผนังด้านหลังพระพุทธรูปประธานเขียนภาพเจดีย์จุฬามณี ด้านตรงข้ามพระประธานเขียนภาพมารผจญ ภาพจิตรกรรมด้านข้างแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือด้านบนและด้านล่าง ด้านบนเขียนภาพพระเวสสันดรชาดก 13 กัณฑ์ ด้านล่างแบ่งออกเป็นช่องๆเขียนภาพ เรื่องต้นกัลปพฤกษ์ ประเพณีวิถีชาวบ้านชาวไทยวน เรื่องรามเกียรติ์ เรื่องพุทธประวัติตอนมหาภิเนษกรมณ์ เรื่องจันทโครพ เรื่องพระมาลัยโปรดนรกภูมิ เรื่องตำนานต้นมักกะลีผล 3. ปรากฏการณ์ร่วมสมัยในงานจิตรกรรมฝาผนัง ภาพจิตรกรรมในอุโบสถวัดหนองยาวสูง ได้แสดงให้เห็นถึงปรากฏการณ์ร่วมสมัยของภาพทหารในสมัยรัชกาลที่ 4- 5 ภาพชาวต่างชาติ ภาพเรือสำเภา ภาพธงช้างเผือก ภาพหอนาฬิกา ภาพวิถีชีวิตชาวไทยวน เช่น การแต่งกาย ทรงผม ที่อยู่อาศัย ภาพการทำคลอดแบบโบราณ ภาพวงดุริยสตรี หรือเป็นภาพกากในมุมเล็ก ๆ ที่จิตรกรซ่อนไว้เช่นการดูดกัญชาและเรื่องกามรมณ์ เป็นต้น

ศุกร์ 29 มีนาคม 2567 262

ชื่อผู้แต่ง : ผศ.ดร.จุติรัช อนุกูล

ปีที่แต่ง : 2567

ประเภท : บทความ

จัดพิมพ์โดย : สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี

คำสำคัญ : จิตรกรรมฝาผนัง


เบราว์เซอร์นี้ไม่สนับสนุน PDF กรุณาดาวน์โหลดไฟล์ PDF เพื่อดู
Download PDF

สำนักศิลปะและวัฒนธรรม
งานวิจัยและบทความ อื่นๆ