งานวิจัยและบทความ

การศึกษาผลงานจิตรกรรมฝาผนัง ในพระอุโบสถวัดสมุหประดิษฐาราม อ.เสาไห้ จ.สระบุรี

บทคัดย่อ การศึกษาผลงานจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถวัดสมุหประดิษฐาราม อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี มีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษาวิเคราะห์ผลงานจิตรกรรมฝาผนังของวัดสมุหประดิษฐาราม ในประเด็นเรื่องราว ความเชื่อ การจัดวางภาพ ตำแหน่งของภาพ และปรากฎการณ์ร่วมสมัยในงานจิตรกรรม ผลการวิจัยพบว่า พระอุโบสถวัดสมุหประดิษฐาราม สร้างราวรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า-เจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 แล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 4 บูรณะซ่อมแซมในสมัยรัชกาลที่ 5 และวาดภาพจิตรกรรมเพิ่มเติม จิตรกรใช้เทคนิคการวาดภาพแบบไทยประเพณี ผสมผสานกับเทคนิคการวาดภาพแบบจีนและตะวันตก เป็นเรื่องราววรรณคดีที่มีสอดแทรกการเรื่องราวชีวิตของชาวบ้านและศิลปวัฒนธรรมแบบจีน 1. ประเด็นเกี่ยวกับเรื่องราว ความเชื่อ ภาพจิตรกรรมที่พบภายในพระอุโบสถ วัดสมุหประดิษฐาราม เป็นเรื่องราวของวรรณคดี 2 เรื่อง คือ เรื่องหลวิชัย คาวีและสมุทรโฆษ ซึ่งแตกต่างจากภาพจิตรกรรมฝาผนังโดยทั่วไปที่นิยมวาดภาพพุทธประวัติ มีความเชื่อเรื่องการทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่วจากภาพพระมาลัยเสด็จโปรดสัตว์นรก ความเชื่อเกี่ยวกับสิ่งเหนือธรรมชาติจากประเพณีแห่กระทงเสียผีและการแห่บั้งไฟขอฝน 2. การจัดวางภาพและตำแหน่งของภาพ ภาพจิตรกรรมในพระอุโบสถวัดสมุหประดิษฐารามมีการจัดวางภาพดังนี้ ผนังด้านหลังพระพุทธรูปประธานเขียนภาพการละเล่น วิถีชีวิตชาวไทยวนและพระมาลัยโปรดสัตว์นรก ด้านตรงข้ามพระประธานเขียนภาพประเพณีการแห่บั้งไฟและการแห่กระทงเสียผี ภาพผนังข้างด้านขวามือพระประธานเขียนภาพวรรณคดีเรื่อง หลวิชัย คาวี ผนังสกัดซ้ายมือพระประธานเขียนรูปวรรณคดีเรื่องสมุทรโฆษ บริเวณคอสองทั้งสี่ด้านเขียนภาพลวดลายพุ่มข้าวบิณฑ์ก้านแย่ง 3. ปรากฏการณ์ร่วมสมัยในงานจิตรกรรมฝาผนัง ภาพจิตรกรรมในพระอุโบสถวัดสมุหประดิษฐารามได้แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตร่วมสมัยของคนพื้นถิ่นกับวัฒนธรรมจีนได้อย่างชัดเจน ส่วนหลักของภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถวัดสมุหประดิษฐาราม นอกจากจะเขียนภาพเรื่องราวของวรรณคดีแล้ว จิตรกรยังได้สอดแทรกเรื่องราวร่วมสมัยไว้เป็นส่วนรองหรือส่วนย่อยอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นประเพณี วิถีชีวิต วัฒนธรรม ความเชื่อ การแต่งกาย อาคารบ้านเรือนแบบจีน เรือสำเภา เรือกำปั่นตะวันตกเป็นต้น ส่วนการได้รับอิทธิพลตะวันตกคือการเขียนภาพแบบทัศนียภาพมีระยะใกล้ไกลซึ่งผู้เริ่มต้นในประเทศไทยคือจิตรกรขรัวอินโข่ง ข้อเสนอแนะควรทำการศึกษาภาพจิตรกรรมในวัดแหล่งอื่นที่มีอายุหรือการสร้างในสมัยเดียวกันเพื่อเปรียบเทียบ รูปแบบ แนวคิด วิธีการนำเสนอ เพื่อให้เห็นถึงความสัมพันธ์หรือความแตกต่าง หรือหากต้องการศึกษาเพื่อการอนุรักษ์ ควรทำการศึกษาผลงานจิตรกรรมฝาผนังภายในจังหวัดสระบุรีที่มีคุณค่าและกำลังจะสูญหายไป

อังคาร 05 เมษายน 2565 328

ชื่อผู้แต่ง : ผศ.ดร.จุติรัช อนุกูล

ปีที่แต่ง : 2565

ประเภท : วิจัย

จัดพิมพ์โดย : สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี

คำสำคัญ : #จิตรกรรมฝาผนัง #วัดสำคัญ



สำนักศิลปะและวัฒนธรรม
งานวิจัยและบทความ อื่นๆ